ปลดพันธนาการ PyQt5 ด้วย PySide2

ตอนนี้ถือว่ามาเล่าสู่กันฟังจากประสบการณ์ เป็นเรื่องโปรแกรมมิ่ง ถ้าไม่สนใจเรื่องโปรแกรมมิ่งก็ผ่านไปได้ครับ

PyQt5 กับลิขสิทธิ์แบบ GPL v3

ผมเขียนไพทอนด้วยการใช้ PyQt5 มาได้สักระยะเวลาหนึ่ง น่าจะสองปีกว่าได้ ยอมรับว่าชอบมากๆ ก็ไม่ได้ระแวดระวังเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เท่าไหร่นัก ลิขสิทธิ์ของ PyQt5 เป็นแบบ GPL v3 ซึ่งสาระโดยรวมๆสามารถเอาไปใช้ได้สองกรณีคือ พัฒนาโปรแกรมแบบเปิดโค๊ด (open source) และแจกจ่ายฟรีพร้อมโค๊ด กรณีนี้ไม่จำเป็นต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นกรณีที่สองคือการพัฒนาโปรแกรมเพื่อการค้าและปิดโค๊ด จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 500US$ ต่อปี ซึ่งไม่น่าจะมากมายนัก ผมเองเอา PyQt5 มาใช้และแจกจ่ายโปรแกรมของผมให้ฟรีก็จริงแต่ปิดโค๊ด ยังไม่พร้อมที่จะเปิดโค๊ดและจ่ายค่าลิขสิทธิ์เนื่องจากไม่ได้หารายได้จากโปรแกรมที่แจกจ่ายไป

ทางสองแพร่ง

ผมลองมองหาเครื่องมือพัฒนาตัวอื่นๆที่มีลิขสิทธิ์เอื้อแบบปิดโค๊ดแต่ยังสามารถใช้ได้ฟรี ที่อ่านๆมาแล้วอยู่ในใจคือ Kivy Platform

  • Kivy framework Platform รองรับภาษาไพทอน ข้อดีหลายอย่างคือ  cross platform  เขียนโปรแกรมครั้งเดียวสามารถนำไปคอมไพล์ บิวด์ได้บน Linux, Mac OS หรือสามารถพอร์ตลงไปหามือถือ Android, IOS ก็ได้ ที่สำคัญคือเป็นโครงการเปิดโค๊ด มีลิขสิทธิ์แบบ MIT License ซึ่งนอกจากจะเปิดโค๊ดแล้ว ยังอิสระเสรีมาก ซอฟแวร์ที่ใช้ลิขสิทธิ์แบบนี้ ผู้ใช้สามารถเอาไปทำอะไรก็ได้ตั้งแต่ก๊อปปี้ แก้ไข รวม แจกจ่ายหรือกระทั่งนำไปขายก็ได้ สุดท้ายถ้าใช้ Kivy พัฒนาก็ยังสามารถนำโปรแกรมไปทำการค้าได้
  • แต่ปัญหาของผมคือ โปรแกรมที่เขียนมีขนาดค่อนข้างใหญ่แล้ว การพอร์ตจากโค๊ดของ PyQt5 ไปยัง Kivy ไม่ใช่่จะทำได้ง่ายๆ เนื่องจาก Kivy มีรูปแบบ GUI ของตัวเอง ไม่ง่ายครับต้องใช้เวลามาก

PySide2 ผู้มาช่วยชีวิต

ในขณะที่กำลังจะจมน้ำอยู่นั้น นึกถึง PySide รุ่นแรกซึ่งรองรับและใช้ได้แค่ Qt4 ไม่ใช่ Qt5 ที่ผมตกร่องปล่องชิ้นไปแล้ว การจะ downgrade กลับหลังหันไปใช้ Qt4 ผ่าน PySide รุ่นหนึ่งไม่ได้ง่ายต้องรื้อโค๊ดพอสมควร เผลอๆอาจจะยากกว่าการกลับไปขอคืนดีกับแฟนเก่า 🙂 ส่วนเรื่องลิขสิทธิ์เท่าที่ทราบมาคือ PySide ใช้ลิขสิทธิ์แบบ LGPL v2.1 คือสามารถนำไปใช้พัฒนาโปรแกรมสำหรับปิดหรือเปิดโค๊ดได้ ทั้งแจกจ่ายฟรีและขายได้ เพียงแต่ไปเอาไลบรารีตัวไหนที่เป็น LPGL มาใช้จะต้องคงความเป็น LGPL ไว้คือต้องเปิดโค๊ตไลบรารีตัวนั้นไปให้ผู้ใช้ด้วย  ข่าวร้ายของ PySide รุ่นหนึ่งคือโครงการตาย ไม่ขยับมาแล้วสามปีกว่า ผมลองค้นเข้าไปลึกๆ ปรากฎว่าโครงการนี้ตอนแรกๆ ได้มีนักพัฒนาอิสระ fork โครงการมาบน Github กลุ่มเล็กๆต่อมาได้ย้ายและไปพัฒนาต่อเป็นทางการจาก Qt Company เจ้าของ Qt framework ตัวจริงเสียงจริง เหมือนฟ้ามาโปรด แต่ยังไม่แน่ใจว่าโค๊ดเดิม PyQt5 ของผมจะ compatible กับ PySide2 แค่ไหน

ในขณะที่ไม่รู้จะทำอะไรก็เลยไปดาวน์โหลดหยิบเอา PySide ตอนนี้เป็นรุ่น PySide2 ที่กำลังพัฒนาอยู่ เป็นไฟล์ wheel ครับที่ทีมงานได้คอมไพล์และบิวท์มาให้ลองใช้ก่อน รุ่นที่ผมหยิบมาใช้ในขณะนี้ บิวท์นานมาแล้วประมาณหกเดือนกว่า รุ่นล่ากว่านี้ยังไม่มี

PySide2 ใช้ลิขสิทธิ์แบบ LGPL v2 เหมือนกันกับ PySide รุ่นหนึ่ง เมื่อดาวนโหลดมาแล้วก็ติดตั้ง มาลองดูว่าพอไปได้ไหม ผมใช้เวลาว่างๆตอนเลิกงานลองไปหก เจ็ดวัน สำเร็จครับ ส่วนใหญ่ใช้ได้กับโค๊ดเดิม แค่ตอน import ไลบรารีเปลี่ยนแค่หัวจาก PyQt5 มาเป็น PySide2 มีส่วนนิดเดียวผมแก้ไขโค๊ดใหม่ให้เข้ากับ PySide2 แต่น้อยมาก และที่เจออีกหนักอีกหน่อยคือ ระบบรายงานผลการแสดงภาพบนจอมอนิเตอร์คือ Screen ยังไม่เสร็จ ทำให้ผมไม่สามารถตรวจได้ว่าผู้ใช้ใช้จอที่ resolution เท่าไหร่ มี dot pixel  ratio เท่าไหร่ อันนี้สำคัญเพราะว่าจอ HiDPI เช่นจอ 4K ทั้งหลาย ตอนนี้ใช้กันมากแล้ว เมื่อ PySide2 ไม่มีให้ ต้องไปหาโค๊ดมาช่วย ใช้ Windows API ไปพลางๆก่อน พอเสร็จเมื่อไหร่ ค่อยกลับมาใช้โค๊ดของ PySide2 ที่เสร็จแล้วต่อ

ผมพูดได้ว่าตอนนี้โปรแกรมของผม เกือบจะ 99.9% ใช้ของเดิม มาปรับแต่งเองเพียง 0.1% มันง่ายหรือเพราะโปรแกรมผมไม่ได้ใช้เขียนอะไรพิศดารหรือปล่าวเช่นระบบกราฟฟิคที่เลิศหรู แต่เอาละต้องขอบคุณทีมงาน PySide2 มา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ข้อจำกัด PySide2 รุ่นพัฒนา

ข้อจำกัดของ PySide2 รุ่นพัฒนายังมีอยู่มากครับ บางครั้งผมรันโปรแกรมผ่านบรรทัดที่ผิด ไม่มีการนับแปดครับ โดนน๊อคกลางอากาศค้างไปดื้อๆ ก็น่าจะอีกสักพักครับ ที่ทีมงานของ Qt จะบิวท์มาให้ใช้กันใหม่ เพราะของเก่าผ่านมาหกเดือนกว่าแล้ว ตัวใหม่น่าจะเสถียรกว่า ดีกว่า

แปลงเป็นไฟล์ Execute ให้รันได้ นรกของโปรแกรมเมอร์ไพทอน

ปกติผมใช้ PyInstaller  สำหรับแปลงโค๊ดไพทอนเป็น execute file (exe) ที่สามารถนำไปรันได้ ทั้งที่ข้อดีของไพทอนคือเขียนง่าย อ่านง่าย ทรงพลัง และไลบรารีที่มีให้เลือกให้ใช้มากมายมหาศาล แต่เป็นที่รู้กันว่างานแปลงไฟล์จากโค๊ดไปเป็นไฟล์ exe ที่รันใช้งานได้ มันเป็นงานสุดหินสุดโหด ตอนผมเริ่มต้นใหม่ๆ ผมก็ไม่รู้ว่าไลบรารีตัวไหน ต้องการขนเอาไฟล์อะไรไปบ้างเพื่อให้สามารถรันได้ บางตัวขนกันไปเป็นโฟลเดอร์ คือแบบเรือพ่วงลากกันไปเป็นพวงๆ ตอนหลังมารู้ว่า มีไฟล์ hooks ที่ PyInstaller  อ่านมาเพื่อตัดสินใจว่าจะขนอะไรไปให้ โฟลเดอร์ไหน ก็ง่ายขึ้น ไฟล์ hooks ส่วนใหญ่มากับ PyInstaller  ถ้าไม่มีก็ไปค้นหาดาวน์โหลดมาได้

ตอนนี้ PySide2 ยังมีนักพัฒนาเอาไปใช้ในวงจำกัดอยู่ จึงไม่มีไฟล์ hooks ปล่อยมา นรกกลับมาเริ่มต้นกับผมอีกครั้ง ต้องลองทดสอบว่า PySide2 เอาอะไรไปใช้บ้าง ตอนนี้ขณะเขียนบทความนี้ ยังไม่สำเร็จครับ กำลังลองผิดลองถูก ไม่เป็นไรชีวิตย่อมมีหนทางเสมอ ผมใช้เวลาในวันอาทิตย์เกือบค่อนวันก็สำเร็จ สามารถนำไฟล์ exe ไปรันได้ตามปกติ สาเหตุที่ไม่ผ่านในตอนแรก ตัว PyInstaller มีปัญหากับโมดูลระบบชื่อ requests ต้องเอา requests รุ่นที่ไม่มีปัญหากันมาใส่แทน

เมื่อไฟล์ exe รันแล้วไม่ติดขัด ก็จะเป็นขั้นตอนต่อไปคือใช้โปรแกรมจำพวก installer มาใช้เช่น Inno Setup ขวัญใจมหาชนเจ้าประจำผมใช้อยู่ ขั้นตอนนี้ง่ายครับ เตรียมไฟล์ exe ให้พร้อม ไฟล์ไลบรารีทั้งหลาย โฟลเดอร์ที่จำเป็นต้องใช้ จากนั้นทำการ build ก็ได้โปรแกรมติดตั้ง ที่สามารถนำไปติดตั้งใช้งานได้

ดาวน์โหลด (Download)

ไปดาวน์โหลดโปรแกรมรุ่นที่บิวท์ด้วย PySide2  เป็นรุ่น V0.70 build 513 ได้แล้วที่หน้า Download ใครที่ใช้รุ่นก่อนหน้านี้ขอความกรุณาช่วย uninstall และมาดาวน์โหลดรุ่นใหม่ไปใช้ด้วย

ความเป็นมาของ Qt framework

เล่าเรื่อง PyQt5 vs. PySide2 ผู้อ่านบางท่านอาจจะงง ถีงที่มาที่ไป PyQt และ PySide คือเครื่องมือสำหรับพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ที่มีพื้นฐานมาจาก Qt framework ที่พัฒนาด้วย C++ ผู้สร้าง Qt คือบริษัท Trolltech บริษัทเล็กๆนอรเวย์ จากนั้นถูกซื้อไปในปี 2008 โดยโนเกีย (Nokia) ยักษ์ใหญ่ในตอนนั้นจากฟินแลนด์ (ย้อนหลังไป 15-25 ปีที่แล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักโนเกียเพราะเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการมือถือ ยุคก่อน IPhone OS และ Android) ทำให้ลิขสิทธิ์ของ Qt ตกมาอยู่กับโนเกีย และโนเกียพยายามจะพัฒนาให้ Qt สามารถใช้กับมือถือได้ (แต่ก็ไม่ทัน ไอโอเอสและแอนดรอยด์ จนแพ้สงครามนี้ในที่สุด) ช่วงที่ Qt อยู่กับโนเกีย ในขณะนั้น Riverbank Computing บริษัทจากอังกฤษได้พัฒนา PyQt  แต่ตอนหลังมีปัญหากัน เพราะ Riverbank ไม่ยอมเปลี่่ยนลิขสิทธิ์ของ PyQt ที่ใช้แบบ GPL ส่วน Qt ใช้ลิขสิทธิ์แบบ LGPL ซึ่งยืดหยุ่นกว่า โนเกียก็ได้พัฒนา PySide ขึ้นมาเพื่อให้มีลิขสิทธิ์แบบเดียวกันกับ Qt แต่สถาณการณ์ของโนเกียตอนนั้นกำลังย่ำแย่มากๆ เพราะมือถือจากไอโอเอสของแอปเปิ้ลกับแอนด์ดรอยของกูเกิ้ลได้ครองตลาดเบ็ดเสร็จแล้ว

ในปี 2011 โนเกียขาย Qt ให้บริษัท Digia จากฟินแลนด์ หลังจากนั้นฉากสุดท้ายแล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่าโนเกียถูกซื้อเสนอซื้อโดยไมโครซอฟท์ในปี 2013 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับมือถือสมาร์ทโฟนจบการดีลการซื้อขายในปี 2014 และจบตำนานโนเกียในที่สุด สะท้อนของสัจธรรมที่ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน หลังจาก Digia ได้ Qt ไปในปี 2014 ได้ก่อตั้งบริษัท Qt Company และเป็นผู้พัฒนา Qt จนถึงปัจจุบัน และตามที่ผมกล่าวมาแล้ว Qt Company ได้ดึงโครงการ PySide มาสานต่อเป็นโครงการ PySide2 ซึ่งถ้าเปิดใช้เป็นทางการเมื่อไหร่ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย หมายเหตุ ปัจจุบันได้เปิด PySide2 เป็นทางการแล้ว

โครงการในอนาคต

ก็เป็นโครงการที่วาดฝันครับ คือพอร์ตโปรแกรม Surveyor Pocket Tools ลงบนมือถือด้วย Kivy framework คงแยกแต่ละ tool ไปเป็นแต่ละ app ซึ่งก็มีฟรีบ้างขายบ้าง ก็เป็นเรื่องอนาคตไม่ได้ตั้งความหวังอะไรมากมาย ปัจจุบันคือพัฒนาและปรับปรุงโปรแกรมทั้งหลายบน Desktop ให้ใช้งานกันต่อไป และยังยืนยันว่าฟรีเหมือนเดิม และความคิดก็ยังเหมือนเดิมครับ “โลกนี้จะน่าอยู่ ถ้าทุกคนแบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ทิ้งท้ายกันนิดหนึ่งจากหัวข้อ “ปลดพันธนาการ” ก็ดูจะโหดร้ายไป ตั้งให้น่าสนใจแค่นั้นครับ PyQt5 นั้นเป็นเครื่องมือพัฒนาโปรแกรมที่ดีมาก มี document ให้อ่านเยอะแยะ ติดขัดตรงไหน Stackoverflow ช่วยได้ สำหรับคนใช้เครื่องมือเพื่อการค้า ก็อุดหนุนซื้อกันไป แต่ถ้าพัฒนาโปรแกรมแบบเปิดโค๊ดก็ตัวนี้เลย ไม่ผิดหวัง สำหรับผมขอเลือก PySide2 ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด พบกันตอนต่อไปครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *