การห้ามเครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชันเสริมเรขาคณิตเข้าห้องสอบวิชาวิศวกรรมสำรวจของสภาวิศกร

เมื่อวันอังคารที่ 21 พย. 2566 ศกนี้ ผมได้เข้าไปสอบทดสอบความรู้ความสามารถทางด้านวิศวกรรมสำรวจที่ทางสภาวิศวกรแห่งประเทศไทยได้จัดขึ้น ซึ่งได้แค่ Certificate นะครับไม่ถึงกว. ผมสอบสามวิชาคือ Surveying and Engineering surveingy (วิชาบังคับ), GNSS & Geodesy (วิชาเลือก) และ Hydrographic surveying (วิชาเลือก)

ที่จริงอายุอานามก็ถึงวัยใกล้เกษ๊ยณแต่ด้วยความที่จัดกันครั้งแรกก็เลยอยากไปลองสอบดู สิ่งที่ผมคิดกลับตรงกับเพื่อนผมอีกคน ก็คือได้ไปเจอกันหน้าห้องสอบทั้งๆที่ไม่ได้เจอกันหลายสิบปีแล้ว ก่อนเข้าห้องสอบหลายวันทางสภาวิศวกรได้อีเมล์มาแจ้งกติกามารยาทกันล่วงหน้าคือ

  1. ไม่อนุญาตให้นำแนวข้อสอบ หรือเฉลยข้อสอบเข้ามาในห้องสอบเด็ดขาด
  2. ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าสอบนำเครื่องคำนวณที่มีฟังก์ชันเสริมทางเรขาคณิตเข้าห้องสอบ
  3. ผู้ที่เข้ารับการทดสอบแต่งกายสุภาพเรียบร้อย
  4. ผู้เข้าสอบต้องจัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการสอบ เช่น ปากกา,ดินสอ 2B,น้ำยาลบคำผิด,ยางลบ ไปเองในวันทดสอบฯ

ผมเตรียมเครื่องคิดเลขไปสองเครื่องครับเครื่องแรกคือ Casio FX-9860GIII รุ่นเทพ กับ Casio FX-5800 รุ่นยอดนิยม คิดอยู่ในใจว่ารุ่น 5800 คงจะเอาเข้าได้น่า ไม่มีโปรแกรมในเครื่องเลย ผมลบออกหมด

ส่วนเพื่อนผมเหมือนกับมีคนจากโลกทิพย์มาดลใจเอาเครื่องของแม่ค้ามาใช้ แต่โทษทีครับไม่มีฟังก์ชัน Sine Cos Tan ใดๆทั้งสิ้น

พอเริ่มสอบก็มีการริบเครื่องคิดเลขทุกชนิดที่เป็นเครื่องวิทยาศาสตร์ ที่มี Sine Cos Tan ผู้สอบทั้ง 12 คน (13 คน ขาดไป 1 คน) มองหน้ากันโดยไม่ได้นัดหมาย

Surveying & Engineering surveying

ข้อสอบ Surveying and Engineering surveying ก็ตามคาดหมายมีข้อคำนวณมาหลายข้อ โดยเฉพาะข้อที่กำหนดจุดตั้งกล้อง C1, C2 กำหนดค่าพิกัดให้ที่หมุด C1, C2 ตั้งกล้องทีโดไลท์เปิดกล้องส่องไปเรือกลางลำน้ำ โดยที่ไลน์กล้องตัดกันเป็นจุด C3 กำหนดมุมภายใน θ1, θ2 วิธีการคำนวณก็ไม่ได้ยากหรอกครับ

  • คำนวณหาระยะทางและภาคทิศอะซิมัทจากหมุดคู่ C1, C2 ได้ระยะทาง c กับอะซิมัท az
  • จุด C1, C2 และจุดที่ตัดกัน C3 ประกอบกันเป็นสามเหลี่ยม ดังนั้นมุม θ3 = 180 – θ1- θ2
  • ต่อไปใช้กฎของ Cos c2 = a2 + b2 -2abcos(θ3) แก้สมการจะได้ระยะทาง a, b
  • จากนั้นเอาภาคทิศ az บวกกับมุม θ2 แล้ว ± 180 จะได้ภาคทิศ C2 ไป C3
  • ใช้ค่าพิกัด C2 คำนวณหาค่าพิกัด C3 จากระยะทาง b และภาคทิศ C2->C3 ด้วยสูตร latitude & departure

ถ้าไม่มีเครื่องคิดเลขฟังก์ชัน Sine Cos Tan คำนวณได้ไหม คำตอบคือไม่ได้ ในจุดนี้ก็อยากจะขอท้วงติงไปทางสภาฯ ว่าถ้าไม่อนุญาตให้คนสอบนำเครื่องคิดเลขแบบมีฟังก์ชันคณิตศาสตร์เข้าแต่มันต้องใช้ ทางผู้คุมสอบควรจะมีเครื่องคิดเลขพวกนี้แจกให้ใช้ เป็นที่รู้กันอีกอย่างว่าถ้าปล่อยให้คนสอบเอาเครื่องคิดเลขมาเอง จะมีการเม็มสูตรและโปรแกรมเข้าไปในเครื่องอาจทำให้เกิดการได้เปรียบผู้สอบท่านอื่น หลังจากสอบเสร็จผมประเมินว่าตัวเองมีโอกาสสอบตกสูง ถ้าผ่านก็แบบปริ่มน้ำ

GNSS & Geodesy

ข้อสอบ GNSS & Geodesy ค่อนข้างชัดเจน ไม่มีคำตอบที่คลุมเครือ แต่ต้องอาศัยความจำกันบ้างเช่นถามหาระยะ semi-major ของทรงรี (a) ของ Everest 1830 ซึ่งผมจำได้เพราะเอาไปเขียนโปรแกรมบ่อยคือ a = 6377276.345 เมตร หรือถามพารามิเตอร์ในการแปลงจากพื้นหลักฐาน WGS84 ไปยัง Indian 1975 ถึงจำตัวเลขไม่ได้เป๊ะ แต่เหลือบไปเห็นก็สามารถเลือกคำตอบได้ บางข้อถามสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรังวัด GNSS แบบจุดเดี่ยว (Single Point Positioning) และบางข้อถามสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรังวัด GNSS แบบสัมพัทธ์ (Relative Positioning) ก็พอตอบได้ ตอนผมเรียนอยู่วิชา GPS ยังไม่มีสอนกันมีแต่ Geodesy เมื่อผมย้อนกลับไปอ่านตำราของดร.เฉลิมชนม์ เรื่องพวกนี้ก็กระจ่างขึ้นมาทันที ไม่ว่าจะเป็นสมการค่าสังเกต (Observation equations) จนกระทั่งมาคำนวณโครงข่ายด้วย least squares ผมว่าผมน่าจะผ่านนะวิชานี้ 🙂

เพิ่มเติม

  • ข้อแรกที่ผมจำได้ถึงกับอมยิ้มเลยถามว่าดาวเทียมในระบบ Navigation มีทั้งหมดในปัจจุบันนี้กี่ดวง โดยที่ตัวเลือกผมจำตัวเลขไม่ได้เป๊ะๆ ข้อ ก) 100+ ข้อ ข) 200+ ข้อ ค) 300+ ข้อ ง) 400+ ผมนั่งไล่ดูที่จำได้เป๊ะเลยคือ GPS ของอเมริกามีที่ active ใช้งานจำนวน 32 ดวง (พย. 2023) ที่เหลือไม่ทราบ ต้องใช้การเดาแบบมีหลักการแทน ผมทราบว่าดาวเทียมในระบบ GNSS มี GPS, Beidou, Glonass, Galileo และของญี่ปุ่น QZSS ที่ใช้งานจำนวนไม่กี่ดวง สุดท้ายคือของอินเดียที่ใช้งานก็ไม่กี่ดวงเหมือนกัน ทั้งของญี่ปุ่นและอินเดียวผมเดาว่ารวมๆกัน 10 ดวง จากนั้นมาเดา Glonass ของรัสเซียประมาณ 30 ดวง ส่วนของจีน Beidou ไม่เกิน 50 ดวง รวมๆกัน 32+50+30+10 รวมๆแล้ว 100+ เลือกข้อ ก) ครับ
  • อีกข้อถามว่ามีเครื่องรับดาวเทียมจำนวน 4 เครื่องตั้งรังวัดบนหมุด อยากทราบว่ามีจำนวนเส้นฐานอิสระจำนวนกี่เส้น ผมจำช้อยไมไ่ด้ คำตอบอันนี้ง่ายครับ จำนวนเส้นฐานอิสระ = N – 1 (N คือจำนวนเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม) = 4 -1 = 3 เส้น

Hydrographic surveying

ที่น่าผิดหวังคือข้อสอบ Hydrographic surveying มีคำตอบที่คลุมเครือมากหรือมีคำผิด บางข้อพูดถึง Echo sounder แบบความถี่คู่ (Dual beam) ซึ่งที่ถูกวงเล็บควรจะเป็น Dual frequency บางข้อถามว่า RTK GNSS Positioning มีความคลาดเคลื่อนเท่าไหร่ ก) 1 เซนติเมตร ข) 4 เซนติเมตร ค) 10 เซนติเมตร ง) 15 เซนติเมตร ผมเลือกข้อ ข) ไม่ทราบว่าจะตรงกับคนออกข้อสอบไหม

บางข้อถามว่า Echo sounder แบบ Multibeam มีความคลาดเคลื่อนเท่าไหร่ โดยที่ข้อ ก) ข) ค) ง) มีตัวเลขมาให้ อันนี้ถือว่าคำถามผิดครับ เพราะว่าความคลาดเคลื่อนของ Echo sounder ไม่ว่าจะ Single beam หรือ Multibeam ค่าความคลาดเคลื่อนขึ้นอยู่กับ % ความลึกด้วย เช่น

Accuracy : 200 kHz-0.01 m +/- 0.1% depth, 33kHz-0.10 m +/- 0.1% depth

บางข้อกำหนดความเร็วเสียงใต้น้ำและความเค็มให้ ให้หาค่าอุณหภูมิของน้ำ อันนี้ผมจำสูตรไม่ได้ ข้อนี้จึงตกสนิท สรุปโดยภาพรวม ผมมีโอกาสที่จะตกวิชานี้สูงมาก

ด้วยความรักในวิชาชีพสำรวจและวงการนี้ที่ได้ให้โอกาสผมได้ทำมาหาเลี้ยงชีพชอบ ที่ท้วงติงมาก็ด้วยเจตนาดีทั้งสิ้นครับ

Updated 16/12/2566

ผลการสอบก็ประกาศมาแล้ว ผ่านครับน่าจะแบบเฉียดฉิวเส้นยาแดงผ่าแปด ขั้นตอนต่อไปปี 2567 ก็จะยื่นขอระดับวิศวกรวิชาชีพ

8 thoughts on “การห้ามเครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชันเสริมเรขาคณิตเข้าห้องสอบวิชาวิศวกรรมสำรวจของสภาวิศกร”

    1. ยินดีครับ เล็กๆน้อยๆอาจจะเป็นแนวทางสอบครั้งต่อไป

  1. ขอบคุณครับ ที่ชี้แนะและแนะนำทางเป็นประโยชน์ให้วงการสำรวจอีกหลายท่านนำไปใช้ครับ ครับ

      1. ยินดีด้วยครับ เป็นแนวทางและกำลังใจสำหรับรุ่นถัดไป ขอบคุณครับ

  2. อาจารย์คะเขาให้เราเลือกวิชาสอบไหมคะ ข้อสอบมีกี่ข้อคะ ต้องแสดงวิธีทำไหมคะ

    1. สวัสดีครับ
      ข้อสอบเป็นปรนัย (เลือกกา ก ข ค ง)
      วิชาบังคับ 1 วิชาคือ คือ การสำรวจรังวัด (Surveying) และการสำรวจเพื่องานวิศวกรรม (Engineering Surveying) ทั้งหมด 50 ข้อ
      วิชาเลือกเลือกได้ 2 วิขา วิชาละ 25 ข้อ จาก
      1. การสำรวจด้วยดาวเทียม (GNSS Global Navigation Satellite System)
      และยีออเดซี (Geodesy)
      2. การสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) และการสำรวจด􀅡วยภาพถ่าย (Photogrammetry)
      3. ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการแผนที่ (GIS Geographic Information system & Cartography)
      4. การรังวัดที่ดิน (Cadastral Surveying)
      5. การสำรวจอุทกศาสตร์ (Hydrographic Surveying)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *