การประมวลผลข้อมูลโดรนด้วย Agisoft Metashape ด้วยการต่อแบบโครงข่าย (Network Processing)

เนื่องจากมีฟีเจอร์นี้ใน Metashape ผมเลยสงสัยถึงประสิทธิภาพว่าจะได้สักขนาดไหน ก็เลยมาทดสอบกันในเบื้องต้นดูกัน การทดสอบจะใช้ทรัพยากรแบบมินิมอลประกอบไปด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง เครื่องแรงพอประมาณ 2 เครื่อง เครื่องธรรมดาอีก 2 เครื่อง ต่อกันเป็นเน็ตเวิร์คโดยใช้การ์ดไวร์เลสที่เราใช้กันทั่วๆไปต่อกับตัวเราเตอร์ ก็เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เราต่อใช้งานในสำนักงานหรือที่บ้าน ที่พิเศษหน่อยในการทดสอบครั้งนี้คือข้อมูลจะถูกเก็บข้อมูลไว้บนเครื่อง NAS (Network Storage) จะมองว่าเป็นคอมพิวเตอร์เล็กๆอีกเครื่องหนึ่งก็ย่อมได้

องค์ประกอบ

  1. เครื่องไคลเอนต์ (Client) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่รัน Metashape แบบกราฟฟิค (GUI) ในการทดสอบใช้โน๊ตบุ๊ครุ่นเก่ายี่ห้อ Asus รุ่น X555D แรม 12 GB, CPU AMD, VGA AMD, SSD 240 GB ติดตั้งวินโดส์ 8.1มี IP Address 192.168.0.105
  2. เครื่องเซอร์เวอร์ (Server) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาที่รัน Metashape แบบคำสั่งมือ (command lines) การทดสอบใช้โน๊ตบุ๊ครุ่นเก่ายี่ห้อ Asus รุ่น แรม 12 GB, CPU Intel, VGA NVidia, SSD 240 GB ติดตั้งวินโดส์ 8.1 มี IP Address 192.168.0.71
  3. เครื่องโหนด (Node) ตัวที่หนึ่ง เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเวิร์คสเตชั่นรัน Metashape แบบคำสั่งมือ (command lines) เครื่องทดสอบ CPU Xeon คู่ (E5-2683), Ram 64 GB, VGA Nvidia Quaddro K6000, SSD 512GB ติดตั้งวินโดส์ 10 pro มี IP Address 192.168.0.5
  4. เครื่องโหนด (Node) ตัวที่สอง เป็นเครื่องโน๊ตบุ๊คเวิร์คสเตชั่นรัน Metashape แบบคำสั่งมือ (command lines) เครื่องทดสอบยี่ห้อ Lenovo Thinkpad P52, CPU Xeon (E-2176), Ram 64GB, VGA NVidia Quaddro P2000, SSD 2.0 TB ติดตั้งวินโดส์ 11 pro for workstation มี IP Address 192.168.0.33
  5. เครื่องสตอเรจ (Storage) เป็น NAS ของ Synology DS920+, CPU Intel Celeron J4125, Ram 4GB มี IP Address 192.168.0.4

แผนผังการต่อ

สำหรับ NAS ในวงแลนสามารถอ้างอิงตำแหน่งพาทได้ด้วย \\NasSurvey ไม่จำเป็นต้องอ้าง ip address ที่แสดง ip address เพื่อแสดงให้เห็นว่าอยู่ในวงแลนเดียวกัน

การคอนฟิก

จากการทดสอบเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้ง 4 เครื่องจะต้องติดตั้ง Agisoft Metashape รุ่นเดียวกันซึ่งตอนนี้ติดตั้งรุ่น 2.0.2 ส่วนการคอนฟิกเครื่องคอมพิวเตอร์มีเพียงเล็กน้อย โดยไปที่เครื่องโหนดให้ไปตั้ง Tools > Preferences > GPU เลือกการ์ดจอแยกและไม่เลือก CPU

ทดสอบระบบ

เริ่มทดสอบระบบ หลังที่เราได้จดหมายเลข IP address มาแล้วก็พร้อมที่จะรันโปรแกรม Agisoft Metashape ดังต่อไปนี้

1.เครื่องโหนด (Node) ตัวที่หนึ่ง เปิด Command prompt ของวินโดส์มาในฐานะ Administrative แล้ว cd เข้าไปในพาท เครื่องผมเป็น C:\Program Files\Agisoft\Metashape Pro> เรียกคำสั่ง

metashape.exe --node --dispatch 192.168.0.71 --root "\\NasSurvey\02 UAV Survey Data\11-Process Drone Data\A2S Business Plot 30112023"

พารามิเตอร์ –node ระบุว่าเป็นโหนด –dispatch คือไอพีของ server ส่วน –root คือที่อยู่ข้อมูลที่อยู่ใน NAS

2.เครื่องโหนด (Node) ตัวที่สอง คำสั่งเหมือนกันเครื่องโหนดตัวที่ 1

metashape.exe --node --dispatch 192.168.0.71 --root "\\NasSurvey\02 UAV Survey Data\11-Process Drone Data\A2S Business Plot 30112023"

3.เครื่องเซอร์เวอร์ (Server) หน้าที่ตัวจ่ายงานให้เครื่องโหนด ใช้คำสั่งดังนี้

metashape.exe --server --control 192.168.0.71 --dispatch 192.168.0.71

4.เครื่องไคลเอนต์ (Client)

เปิด Metashape แบบปกติ ไปที่ Tools > Preferences > Network ตั้งค่าดังนี้

จากนั้นเพิ่มรูปเข้ามาใน project แล้วไปที่เมนู Workflow > Align photo… ทำการบันทึก project แล้วทำการคำนวณ ระบบจะเริ่มคำนวณให้แบบเน็ตเวิร์คทันที โดยที่เครื่องไคลเอนต์จะโยนงานไปให้เครื่อง server

Network Monitoring

จากนั้นเปิด Agisoft network monitor บนเครื่องโหนดตัวไหนก็ได้ หรือเปิดที่เครื่อง server ก็ได้ ป้อนค่าไอพีของ server เพื่อติดตามสถานะการคำนวณ (หมายเหตุ ตามคู่มือสามารถปิดเครื่องไคลเอนต์ได้ แต่ผมยังไม่ได้ลอง)

ผลการทดสอบ

เนื่องจากระยะเวลาที่ทดสอบไม่ยาวนานพอจะคำนวณได้ทั้งหมด เพียงแต่คำนวณ Align photo ผ่านไปแล้ว และยังไม่มีการจับเวลาเปรียบเทียบว่าคำนวณด้วยเครื่องโหนดแบบ stand alone จะใช้เวลาเท่าไหร่เทียบกับการต่อแบบโครงข่าย

คู่มือยังระบุว่าจำนวณเครื่องโหนดมีสอง ไม่ใช่ว่าเวลาที่ใช้คำนวณจะเร็วกว่าคูณสอง ถ้ามีเวลาผมจะต่อแบบโครงข่ายและจับเวลาทดสอบดูอีกที สำหรับคู่มือ การต่อแบบเน็ตเวิร์คหรือโครงข่ายหาอ่านได้<<ที่นี่>> รักและชอบโปรแกรมนี้ก็หาซื้อมาใช้งานกันได้ โปรดติดต่อบทความตอนหน้าครับ

1 thought on “การประมวลผลข้อมูลโดรนด้วย Agisoft Metashape ด้วยการต่อแบบโครงข่าย (Network Processing)”

  1. ขอบคุณครับ Network Processing น่าสนใจตามครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *