แจ่มจริงๆ Ubuntu Lucid กับสารพันโปรแกรมต่างๆที่ผมใช้งาน

Ubuntu Lucid

  • หลังจากกลับจากต่างประเทศ ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้อัปเกรด Ubuntu จาก Karmic เป็น Lucid ด้วย Update Manager ซึ่งก่อนหน้านี้การเปลี่ยนเวอร์ชั่น ต้องอาศัยการ install ใหม่ทั้งหมดทำให้เสียเวลาไปมาก เมื่อใช้ Update Manager ก็เสียเวลาดาวน์โหลดไฟล์ไม่นานนัก เนื่องจาก internet สมัยนี้เร็ว ต้องยอมรับว่าโทนหรือ Theme เน้นไปทาง Dark มากขึ้น เพิ่มสีม่วง สวย นวลเนียนมาก ก็ไม่ผิดหวังเป็น distro ที่ผมชอบมาก
Ubuntu Lucid กับ Compiz

มีอะไรบ้างหลังจากเปลี่ยนเป็น Lucid แล้วต้องติดตั้งใหม่หรือต้องแก้ไข

Compiz Fusion

  • ไม่ต้องทำอะไรเลย ผมเปิด desktop ทั้งหมด 8 desktop แล้วตั้ง effect เป็นทรงกระบอก ปิดการ render ตัว desktop ของ Nautilus ทำให้สามารถใช้ effect “Wallpapers” ของ compiz ได้ เครื่องผมเป็น Notebook ใช้ชิปกราฟฟิคของ intel เมื่อหมุนควง desktop จะ smooth ไม่มีอาการกระตุกให้เห็นครับ

Stellarium

  • นี่เป็นอีกโปรแกรมสามัญประจำเครื่องสำหรับผมเลย เอาไว้จำลองดูดาวบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้คือ Karmic จะตีกับ compiz ไม่สามารถใช้งานได้แต่ใน lucid นี้ลองเปิดดู OK เลยครับไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม ก็ใช้งานได้เลย เปิดการแสดงผลเป็นภาษาไทย ทำได้ยอดเยี่ยมครับ ชื่อดาว เนบิวลา ทำได้ดีมาก
stellarium บน Ubuntu Lucid

Quantum GIS

  • เนื่องจาก repo ตัวเก่าอยู่ที่ launchpad.net ค่อนข้างมีปัญหาบ่อยคือเวลา update จะฟ้องว่า PGP Key Error อะไรประมาณนี้ตอนนี้ย้ายมาที่นี่ เพิ่ม repo สองบรรทัดล่างที่ synaptic ก็ OK ครับ
deb     http://qgis.org/debian-nightly lucid main
deb-src http://qgis.org/debian-nightly lucid main
  • เมื่อเพิ่ม repo แล้วก็ update ต่อจากนั้น upgrade จะได้ Quantum GIS ในเวอร์ชั่น 1.6.0 ซึ่งตอนนี้เป็นรุ่น SVN Trunk หลังจากติดตั้งแล้วเรียก QGIS ใช้ก็ผ่านฉลุยครับ
Quantum GIS 1.6.0

Lazarus

  • เป็นคอมไพเลอร์ cross-platform ที่เดิมทีโคลนนิ่งมาจาก Delphi แต่ตอนนี้มาไกลและ stable มาก ตัว Lazarus เองเป็น opensource และมีกลุ่มนักพัฒนาที่ช่วยกันอยู่ engine ของ Lazarus เป็น free pascal compiler (fpc) ซึ่งก็มีกลุ่มนักพัฒนาอีกกลุ่มที่ดูแลกันอยู่
  • เมื่ออัปเกรดเป็น Lucid ผมก็แทบไม่ต้องทำอะไร ได้แต่ update ผ่าน svn (subversion) แล้วทำการคอมไพล์และ build ใหม่ก็ใช้ได้ทันที
Lazarus ยังเป็นเวอร์ชั่น 0.9.29

OpenOffice

  • ผมใช้ OpenOffice มาร่วมๆ 2 ปีแล้วพบว่าดีกว่าแต่ก่อนมาก แต่ในสำนักงานเกือบทั้งหมดก็ยังใช้ MS Office อยู่ ปัญหาที่พบมาตลอดคือเรื่องขนาดฟอนต์ใน linux กับ windows ใช้ฟอนต์เดียวกันคือนำฟอนต์ วินโดส์ ไปลงใน linux ด้วย แต่ขนาดตัวหนังสือใน openoffice บน linux ตัวจะใหญ่กว่ามากถ้า save ใน linux แล้วมาแก้ไขบนวินโดส์ จะต้องจัดหน้าใหม่ทุกที
  • ถ้าจะใช้ฟอนต์เช่น Waree, Norasi, Loma เวลาแปลงเป็น MS Office เครื่องอื่นที่ส่งไฟล์ไปให้ก็ไม่มีฟอนต์เหล่านี้ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของ Openoffice ทางการน่าจะผลักดันเรื่องฟอนต์ น่าจะมีฟอนต์แห่งชาติ ไม่ต้องใช้ฟอนต์ลิขสิทธิ์ของ MS เหมือนทุกวันนี้
  • ตอนหลังผมเลยใช้ openoffice บนวินโดส์อย่างเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ ตอนนี้ openoffice ผมยังใช้ 3.2 อยู่เมื่อติดตั้ง Lucid ก็ยังใช้งานได้เหมือนเดิม
OpenOffice 3.2

Spatialite

  • Spatialite-gui และ Spatialite-gis ก็ OK ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม เพราะเป็นโปรแกรมตัวเล็กๆ
Spatialite-gui
Spatialite-gis

โปรแกรมตกแต่งภาพ Gimp

  • ก็ยังเป็นเวอร์ชั่นเดิมคือ 2.6 ผมใช้แทน photoshop มานานแล้วซึ่งฟีเจอร์ที่มีอยู่สำหรับผมพอแล้ว ออกจะมากไปด้วยจนเลือกใช้ไม่ถูก (ฮา) Gimp เป็น cross-platform บนวินโดส์ก็ใช้ดีเหมือนใน linux

โปรแกรมเล่นเพลง Songbird

  • พยายามติดตั้งผ่าน repo แต่ไม่สำเร็จ ก็เลยไปดาวน์โหลด debian package มาติดตั้งเป็นรุ่น 1.4.1 ผมค่อนข้างชอบใจ Songbird ตรงที่เป็น Web Media Player มี Add-On มาก สามารถหารูปหน้าปกอัลบั้มและเนื้อเพลงได้ (ผมฟังเพลงยุค 1970 ยุคทองของดนตรี Rock, Hard Rock บางครั้งก็ฟัง Jazz/Fusion บ้าง บางทีก็พวก New Age เพลงไทยก็ลูกทุ่ง)
Songbird 1.4.1

โปรแกรมดูหนัง VLC Media Player

  • ไม่ต้องบรรยายอะไรมากสำหรับ VLC เป็น cross-platform ฟรี ใช้ได้ดีทุก platform รวมทั้งวินโดส์ตอนนี้รุ่น Goldeneye โปรแกรมนี้อัดมาแน่นด้วย codec ไม่ต้องหาอะไรมาติดตั้งเพิ่ม คือฟอร์แม็ตอะไรๆก็เล่นได้หมด ขนาดไฟล์อิมเมจ .ape ที่ผมหาอะไรมา mount ก็ไม่สำเร็จสักทีมาตายด้วย VLC นี้แหละครับ

BricsCad

  • ผมเพิ่งได้รับการกระจาย email จากบ.ผู้พัฒนา จึงเข้าไปดาวน์โหลดมาลองใช้งานดู BricsCad เป็นโปรแกรมด้าน CAD ที่น่าจะเทียบเท่ากับ Autocad (ซึ่ง Autocad ปัจจุบันมันเน่าเหลือเกิน หลังรุ่น 2007 ก็มีปัญหาความเสถึยรมาก)  ผมดาวน์โหลดมาแบบ debian package จึงติดตั้งไม่ยากแล้วลองเปิดไฟล์ dwg ดู ก็ดูช้าไปนิดแต่การแสดงผลไม่ผิดเพี้ยนจาก Autocad เลย รุ่นทดลองใช้ใช้ได้ประมาณ 30 วันราคาบน linux ประมาณ $385 หรือประมาณหมื่นกว่าบาท ไม่แพงเลย ความจริง BricsCad for Linux นี้เป็นโรคเลื่อนมานานมาก น่าจะมากกว่าหนึ่งปี เนื่องจากติดขัดเรื่อง graphic engine
BricsCad V 10.6.6
  • เมื่อหันไปดูพวก text ที่เป็นภาษาไทยยังแสดงผลไม่ถูกเนื่องจากไม่มี font ผมก็เลยไป copy จากวินโดส์มาให้ ตัวโปรแกรมของ Bricscad จะอยู่ที่ /opt/bricsys/bricscad/v10 และมีไดเรคทอรี Fonts ก็อยู่ในนี้จัดการเป็น root แล้ว copy ไฟล์ฟอนต์ .shx มาใส่จะแสดงภาษาไทยได้ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ Autocad ไม่มีให้ต้องซื้อเพิ่ม ก็คือ RasterImage ส่วน BricsCad ให้มาเลย สามารถนำไฟล์รูป Geo มา insert เข้าและยังมี function ด้าน Raster อื่นๆให้ใช้
แสดงผลภาษาไทยได้ถูกต้อง

โปรแกรมอื่นๆ

  • FireFox ก็คงคุณภาพเหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่บนวินโดส์หรือ linux สนับสนุนภาษาไทยได้เต็มร้อย มี Add-on ให้ใช้จนเลือกไม่ไหว
  • Google Chrome ถ้าเอามาท่องเน็ตอย่างเดียวดี เร็ว แต่ถ้าใช้มานั่งเขียน blog แบบนี้ภาษาไทยมันรวนไปหมดสระอยู่ไม่ถูกที่ สับสนอลหม่านไปหมด ผมเลยใช้น้อยมาก

สรุป

  • Ubuntu เป็น OS ทางเลือกที่ดี ถ้าใช้งานด้านเอกสาร ดูหนัง ฟังเพลง แค่นี้ Ubuntu สบายครับ ไม่ต้องกังวลเรื่อง Virus ให้ปวดใจ Windows 7 ที่ว่าสวยๆ มาเจอ Ubuntu + Compiz เอาแค่หมุนควง Desktop 3D นี่ต้องรีบหลบข้างทางไปเลย ข้อเสียของ linux ก็คือมีโปรแกรมด้าน CAD/GIS น้อยมาก โดยเฉพาะด้าน CAD โปรแกรมที่เห็นๆ ฟรีๆ ไม่ไหว ตอนนี้ก็มี BricsCad ที่ OK แต่จะไปรอดหรือปล่าว ส่วนด้าน GIS ก็ยังดีที่มี QGIS ที่เป็น application แบบ cross-platform

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *