เมียงมองหาโดรนราคาถูกสำหรับงาน Photogrammetry

ตลาดของโดรนถ่ายภาพ

ปัจจุบันตลาดของโดรนถ่ายรูปถ่ายวิดีโอได้แยกเป็นสามตลาดใหญ่ (ตามทัศนะของผมเองครับ) แยกเป็น คอนซูเมอร์ (Consumer) ที่เป็นของผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เน้นสันทนาการถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ อีกตลาดของคือพรีเมียม (Premium) ที่เป็นของผู้ใช้เฉพาะทางเช่นการถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอที่มือโปรมากยิ่งขึ้น ตัวที่กำหนดคือราคา ราคาของ consumer จะอยู่ที่ประมาณ 10000 – 50000 บาท ที่ผู้ใช้ทั่วไปมีเงินจับจ่ายซื้อใช้สอยกันได้ ราคาพรีเมียมจะอยู่ประมาณ 50000 – 100000 บาท และจะมีตลาดสำหรับพวกเอนเทอร์ไพรซ์ (Enterprise) เป็นตลาดสำหรับผู้มีอันจะกินหรือมืออาชีพจริงๆคือโดรนราคามากกว่าแสนบาทขึ้นไปได้แก่ DJI Inspire, DJi Matrice ตัวอย่าง DJI Inspire ที่นำมาถ่ายทำภาพยนตร์ได้เลยทีเดียว สำหรับผมเองจัดตัวเองอยู่ในกลุ่ม consumer เนื่องจากเป็นพวกประเภทเบี้ยน้อยหอยน้อย

ตัดฟีเจอร์บินด้วย waypoint

พอตลาดของโดรนแยกออกอย่างนี้ สิ่งที่ตามมาคือฟีเจอร์การบินตาม Waypoints หรือการบินตามจุดที่ผู้ใช้กำหนด โดรนของยี่ห้อชั้นนำเช่น DJI, Autel ตัดฟีเจอร์นี้ออกหมด ผมรู้ไม่ทันประมาณว่าเฟอะฟะคูนสอง ไปซื้อ Autel Nano มาตัวหนึ่ง ซื้อ DJI Mini 3 Pro มาหนึ่งตัวเช่นกัน ทั้งคู่ราคาประมาณสามหมื่นบาทต้นๆ สิ่งที่ช็อคคือทางผู้ผลิตได้ตัดฟีเจอร์นี้ออกอย่างสมบูรณ์แบบ

SDK สำหรับผู้พัฒนาแอพอื่น

ย้อนเวลาหาอดึตเมื่อประมาณห้าปีที่แล้ว ผมซื้อโดรนของ DJI spark มาใช้เนื่องจากราคาถูกมาก ซื้อชุดคอมโบมาใช้ราคาอยู่ราวๆ 20000 บาทต้นๆ มีแบตเตอรี 3 ก้อน แต่ละก้อนบินได้นานประมาณ 10 กว่านาที ผมใช้โดรนตัวเล็กนี้มาบินทำแผนที่ โดยใช้แอพของ Litchi มาบิน สมัยก่อนโดรนของ DJI ออกมาขาย ชุด SDK (Software Development Kit) สำหรับให้บริษัทอื่นนำไปแอพเพื่อบินโดรนของ DJI ตัว SDK ออกมาค่อนข้างเร็ว ตัวอย่างอย่างผมใช้แอพของ Litchi ซึ่งเขาก็ใช้ SDK นี้ การบิน DJI spark ด้วยแอพ Litchi ในโหมดบิน waypoints ถือว่าใช้งานได้ง่ายมาก สร้าง waypoint ก็สะดวก

ไดอะแกรมของจากฮาร์ดแวร์ของโดรนระดับล่างสุดจนถึง SDK และแอพบินโดรน

ความล่าช้าของ SDK จาก DJI

ปัจจุบัน SDK ของ DJI ออกมาช้า อย่างผมซื้อ DJI Mini 3 Pro ซื้อมาหนึ่งปีกว่าๆ ตอนนี้ SDK ของ DJI เพิ่งปล่อยมาไม่กี่วันนี้เอง เหตุผลทางตลาดคือ DJI ไม่ต้องการให้ใครมาทำแอพแข่งในทันทีทันใด แต่เหตุผลที่ต้องทำ SDK มาเพื่อต้องการขยายตลาด ฟังดูมันย้อนแย้งพอสมควร ณ ตอนนี้ผมทราบว่าแอพ Dronelink สามารถบิน DJI Mini 3 Pro แบบ Waypoints ได้ จะมาคุยเรื่องนี้อีกทีแบบละเอียด

ลาขาด Autel

ส่วนของ Autel Nano ตัวนี้นิ่งสนิท คงไม่มีโอกาสได้บิน Waypoints อีกแล้ว ผมขอบ่นยี่ห้อนี้อีกนิด คือผมน่าจะโชคร้ายมากกว่า ที่ทำงานของผมซื้อตัวพรีเมียมคือ Autel Evo II สนนราคาร่วมๆเก้าหมื่นบาทต้นๆ มาใช้งานอยู่ประมาณได้ 4 เดือนก็มีเหตุต้องจำลาจากกันคือขณะบินถ่ายภาพเพื่อเก็บความก้าวหน้าของงานก่อสร้างของโครงการ แบตเตอรี่ก็ไหม้กลางอากาศตกลงทะเล ชุดประดาน้ำอยู่ใกล้ๆก็จัดการดำไปงมให้ทันที สิบนาทีก็งมมาได้ สภาพที่เห็นคือยังมีควันลอยออกแบตเตอรี โชคดีที่ประกันโดรนไว้จึงได้เงินค่าประกันโดรนมาประมาณเกินครึ่งของราคาก็ยังดี

โดรน Autel รุ่นทอป EVO II

ตัว Autel Nano ที่ผมซื้อส่วนตัวครั้งแรกได้สีส้ม พอได้รับของก็จัดการทดลองบินขึ้น แต่พบว่ามันไม่ไปตามจ้อยสติกคือไปแบบคาดหวังไม่ได้ ดันจ้อยสติกไปสุดทางก็ยังไปแบบเอื่อยๆ ติดต่อแจ้งปัญหากับคนขาย เขาก็เปลี่ยนตัวใหม่มาให้เป็นสีเทา เนื่องจากบิน waypoints ไม่ได้ ผมก็บินถ่ายรูปและถ่ายวีดีโอเล่นๆบางครั้ง มีอยู่วันหนึ่ง บินไม่สูงประมาณ 5 เมตร โดรนมันบินเซออกไปด้านขวา พุ่งเข้าต้นไม้โดยที่ผมไม่ทันได้แตะจ้อยสติก พอชนกิ่งไม้ก็หล่นลงพงหญ้า พบว่าใบพัดหักไปสองใบ ดูตัวโดรน กิมบอลไม่ได้รับความเสียหาย

IMU Failure

ผมเอาไปคาลิเบรทพบว่า IMU ไม่ผ่านเฟลล์ที่ขั้นที่สองไม่ว่าจะทำ indoor หรือ outdoor แจ้งทางร้านที่ซื้อไปเพื่อขอคำแนะนำก็ดูเขาไม่สนใจนัก ผมคิดๆดูสาเหตุ IMU น่าจะเฟลล์ก่อนหน้าที่จะตก พอเอาไปบินถึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตอนนี้ผมเอาไปทำที่ทับกระดาษเป็นที่เรียบร้อย ส่วนตัวผมกับทีมงานก็เข็ดเขี้ยวกับ Autel ไปพอสมควร ไม่ได้ตั้งใจจะว่า Autel แต่อย่างใด แต่สภาพของที่พวกผมเอามาใช้ความจริงมันเป็นแบบนี้ สงสัยที่โชคร้ายคือซื้อของได้ของที่ตก QC มาหรือเปล่า

ทดลองของถูก Hubsan Ace Pro

ผมมาสะดุดกับโดรนอีกตัวคือ Hubsan หลายปีแล้วเคยดูรีวิวผ่านๆในยูทูปก็สนใจ แต่ตอนนั้นไม่มีนำเข้าในประเทศไทยก็ได้แค่ดูผ่านๆ ปัจจุบันมีผู้นำเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ผมเลยควักเงินซื้อ Hubsan Ace Pro แบบไม่คอมโบ มีแบตอยู่หนึ่งก้อน ราคา 18000 บาท ที่ซื้อเพราะว่า

  • ราคาถูก
  • บิน waypoint ได้
  • สู้ลมได้ระดับ 8 (ผมไม่เข้าใจว่าลมที่ระดับ 8 มันจะแรงแค่ไหน)
  • มีดิสค์สำหรับบันทึกไฟล์แบบภายใน 64 GB แก้ปัญหาเรื่องลืมเสียบ sd card ได้อย่างดี
  • บินได้นาน 35 นาที
  • ภาพนิ่ง 12MP/48MP สำหรับภาพนิ่ง 48 MP ได้จากการ generate ด้วยซอฟท์แวร์จากภาพนิ่ง 12 MP อีกที หลักการเดียวกันกับ DJI Mini 3 Pro
  • อีกเหตุผลที่ซื้อเพราะชอบลองของใหม่ๆ

หลังจากเปิดกล่องก็พบว่า Hubsan Ace Pro ออกแบบมาสวยบึกบึน ปีกสามารถพับมาที่กลางลำตัวได้อย่างสวยงาม มีพัดลมเล็กๆอยู่ข้างล่างมันจะเปิดตอนไม่ได้บิน ทำให้สามารถเปิดโดรนได้อย่างวางใจไม่ต้องกลัวร้อน แต่ตัวรีโมทดูแล้วไม่สวยเหมือนของราคาถูกๆ แต่สำหรับผมแล้วความสวยไม่เท่ากับฟีเจอร์ของโดรน

ขึ้นบินด้วยออปชั่น GPS

ผมใช้บริการการลงทะเบียนกสทช. และการบินพลเรือนเสร็จ ด้วยการจ้างร้านข้างนอกแบบ one stop service ไม่ได้ใช้บริการของทางร้านที่ผมซื้อโดรนมาเพราะดูแล้วไม่เวิร์ค หลังจากได้ใบอนุญาตผมก็นำโดรนมาทดสอบการบิน ผมก็เกือบพลาดเพราะสถานที่ลองโดรนเป็นพื้นที่แคบๆ มีหลังคาบัง GPS สามด้าน ทำให้สัญญาน GPS ไม่ดีนัก ผมปลดออปชั่นการนำโดรนบินด้วย GPS คิดว่าไม่เป็นไร พอเอาโดรนขึ้นสูงประมาณเมตรกว่า โดรนก็พุ่งเข้าหาใต้ถุนจอดรถ ผมกดจ้อยสติกเอาลงทันที โชคดีที่มันลงห่างจากผนังบ้านไปประมาณเมตรกว่าๆ ถ้าช้ากว่านี้โดรนอาจจะกระจาย

บังคับด้วยมือแทนที่ RTH ตอนลงจอด

หลังจากนั้นมาผมเปิดออปชั่นการนำโดรนบินขึ้นด้วย GPS เสมอๆ ปัญหาที่พบต่อมาคือ Return To Home (RTH) ไม่แม่นครับ ครั้งแรกผมพาลงพื้นที่โล่ง ถัดจากลานจอดรถที่ออฟฟิศไม่มากนัก ปรากฎโดรนจะลงกลางรถกระบะที่จอดอยู่ ผมต้องรีบบังคับแบบแมนวล ทีหลังผมรู้ปัญหานี้เวลา RTH พอมองเห็นโดรนได้ชัดก็จะเอาลงแบบแมนวล ตัวนี้ผมทราบว่าน่าจะเป็นเรื่องซอฟท์แวร์ที่ควบคุมโดรนของ Hubsan ที่ยังไม่ดีพอ เพราะคุณภาพของอุปกรณ์ชิปเซ็ตของ GPS ที่ติดตั้งในโดรนแต่ละยี่ห้อนั้นไม่ต่างกันนัก ประสบการณ์คือ DJI หรือ Autel ลงแม่นห่างจากตำแหน่งขึ้นไม่ถึงเมตร

ปัญหากิมบอลติด

ปัญหาอีกอย่างที่น่าจะเป็นเฉพาะเครื่องผมคือเมื่อเปิดเครื่องแล้ว บางครั้งเครื่องจะเตือนว่ากิมบอลติด เพราะถูกปิดด้วยฝาล๊อค (Gimbal under protection please check if it’s stuck) ทั้งที่ๆเอาออกไปแล้ว จนน่ารำคาญ ลักษณะของกิมบอลจะเหมือนคนแขนอ่อนแรงเหมือนไม่ตอบสนอง เมื่อเปิดเครื่องใหม่ๆเดินถือโดรนแกว่งๆก็จะ Error เตือน บางครั้งเอานิ้วตบเบาๆที่กิมบอลก็หาย บางครั้งไม่หายต้องเปิดปิดเครื่องใหม่ อาการของกิมบอลที่ใช้ได้คือถ้าใช้นิ้วแตะเบาๆ มันจะแข็งไม่หมุนหรือโยกง่ายๆ แต่พอเอาเครื่องขึ้นปัญหานี้ก็ไม่พบ พอเอาลงผมลองเอาโดรนมาเขย่าหรือหมุนก็ไม่ปรากฎอาการ Error

ปัญหากิมบอล error

สร้าง waypoint

สำหรับการบินด้วย waypoint ที่ผมสนใจมากเพราะเป็นโดรนราคาถูกที่ยังมีฟีเจอร์นี้ ต้องเปิดแอพของ Hubsan มาก่อนเปิดโหมด waypoint จากนั้นจะต้องทำการจิ้มจุดลงไปสดๆ เป็นการกะด้วยสายตาครับ ระยะห่างระหว่างแต่ละเส้น แรกๆใช้โปรแกรม Mission Planner บนคอมพิวเตอร์ว่าบินสูงขนาดนี้ ต้องการ sidelap overlap ขนาดนี้ ความละเอียดภาพขนาดนี้ เส้นจะห่างกันประมาณเท่าไหร่ จากนั้นมากะเอาที่แอพของ Hubsan

วางเส้นทางบิน (waypoints) แบบแมนวล

ระยะทางของ waypoint ต่อเนื่องที่แอพอนุญาตให้อยู่ที่ 5 KM ผมลองบินให้ครบ 5 Km เหลือแบตประมาณ 35-40% ดังนั้นเวลาที่เหลือสามารถเอาโดรนลงได้สบายๆ ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งถ้าเส้นบินสั้นๆ ผมลองจิ้มๆดูแล้วประมาณ 55 จุด waypoint ถ้าเกินนี้ตัวโดรนจะออกอาการเอ๋อ การจิ้มจุดนับว่าเป็นงานประลองความอดทนพอสมควร เมื่อจิ้มจุดได้ตามความต้องการคือระยะทางไม่มากกว่า 5 KM จุดไม่มากเกิน 55 จุด เราก็เอา Remote Controller มาต่อเข้ากับแอพ ต้องต่อเชื่อมกันให้ได้ ไม่งั้น waypoint ที่เราป้อนจุดไปจะหายถ้าเปิดแอพใหม่ ที่จริงผู้ผลิตน่าจะให้ save เข้าที่แอพได้ เพราะตัวแอพก็มีพื้นที่ส่วนตัวอยู่แล้วในโทรศัพท์

วางเส้นทางบิน (waypoints) แบบแมนวล

บินถ่ายภาพในโหมด waypoint

เมื่อต่อรีโมทคอนโทรลเชื่อมต่อกันได้แล้ว จะเปิดโดรน แล้วตั้งค่าการถ่ายภาพให้เป็นระบบ Timer คือผมตั้งไว้ถ่ายภาพทุกๆ 2 วินาที ถ้าโดรนเชื่อมต่อกับรีโมทคอนโทรลเสร็จ ไฟเขียวขึ้นที่แอพ ก็พร้อมจะบินแบบ waypoint นำโดรนบินขึ้นความสูงสัก 5-10 เมตร จากนั้น upload waypoint เข้าไปที่ตัวโดรน จิ้ม start บนแอพ

โดรนจะบินขึ้นในแนวตรงพอได้ระดับที่เราตั้งไว้ก็จะบินไปหาจุดแรก เมื่อเข้าจุดแรก เราก็ทำการกดถ่ายภาพที่รีโมทคอนโทรล โดรนจะบินไปตามจุด waypoint การบินของ Hubsan บินนิ่งสู้ลมได้ดีมาก ความเร็วการบินด้วย waypoint สูงสุดจะถูกล๊อคที่ 6 m/s หรือประมาณ 21.6 กม./ชม. ความเร็วเฉลี่ยน่าจะต่ำกว่านี้มาก ถ้าบินเส้น waypoint สั้นๆ โดรนจะต้องลดความเร็วก่อนเข้าจุด จากนั้นจะใช้เวลาเลี้ยวช้าๆถึงจะไปเส้นต่อไปได้ โดรน Autel ก็ใช้ระบบนี้ ส่วนของแอพ Litchi ถ้าบินโดรน DJI มันสามารถตีวงตามรัศมีที่เราตั้งไว้ ไม่เสียเวลา ซึ่งผมชอบแบบนี้มากกว่า

บินถ่ายภาพตามเส้นทางบิน (waypoints) ที่วางไว้

เมื่อบินจนครบทุกจุด แอพจะแจ้งว่า Mission completed จากนั้นเรากดไปที่ RTH บนแอพ เมื่อโดรนลงมาถึงระดับหนึ่ง ตอนนี้ถ้าโดรนไม่ได้ตั้งระบบกันชนก็ควรจะต้องตั้งที่ตรงนี้เพื่อกันเหตุสุดวิสัย เราก็เปลี่ยนเป็นแบบบังคับด้วยมือเพื่อเอาลงพื้น เมื่อลอยที่ระดับเหนือพื้นประมาณหนึ่งเมตร โยกจ้อยสติกลง โดรนจะมีอาการดื้อขัดขืนเล็กน้อย จากนั้นก็จะลงพื้นโดยดี

ปิดระบบกันชน (Obstacle Avoidance System) เมื่อบิน Waypoint

ถ้าผมเปิดโหมดกันชนตั้งแต่เอาขึ้น อาการเอ๋อจะปรากฎตอนที่เข้าจุด waypoint จุดแรก จะเตือน error แล้วโดรนหยุดนิ่งกับที่ ครั้งแรกผมตกใจนึกว่าโดนนกตบ มองดูก็ไม่มีอะไร ต้องปิดโหมดกันชนก่อนแล้วกด start waypoint ตรงที่โดรนอยู่ตำแหน่งนั้น อีกครั้งถึงจะไปต่อให้ ผมลองหลายทีเป็นแบบนี้ก็สรุปได้ว่าบินแบบ waypoint เปิดโหมดกันชนไม่ได้

อีกนิดหนึ่งคือโหมดภาพ 48MP ไม่สามารถใช้โหมดเวลา Timer ได้ต่ำกว่า 4 วินาที อันนี้น่าเสียดายมาก ผมเข้าใจว่าต้องใช้ CPU ของโดรนประมวลผลด้วยทำให้ต้องใช้เวลาอึดหนึ่ง แต่ไม่พอสำหรับการตั้งไว้ที่ 2 วินาทีหรือ 3 วินาที ผมคิดว่าถ้าโดรนมันบินได้ช้ากว่านี้ผมจะลองตั้ง 4 วินาที แต่ก็ไม่สามารถปรับความเร็วโดรนได้ ดังนั้นได้ใช้แค่ 12MP

ผลลัพธ์การประมวลผล Photogrammetry

ผลของการประมวลผลภาพถ่ายที่ได้จาก Hubsan Ace Pro บนพื้นที่ที่ทำ GCPs ด้วย RTK ด้วยโปรแแกรม Agisoft Metashape ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ภาพรวมของ Hubsan Ace Pro ที่ผมใช้งานสรุปแล้วคือการใช้การบินแบบ waypoint เพื่อทำแผนที่ใช้งานยากเพราะแอพไม่สนับสนุนให้สร้าง waypoint แบบอัตโนมัติซึ่งก็คือให้ผู้ใช้กดจิ้มเลือกพื้นที่บินก่อน แล้วแอพ generate waypoint เป็นเส้นตรงให้ ซึ่งผมก็ไม่ได้คาดหวังตรงนี้เพราะโดรนราคาถูก เน้นผู้ใช้ที่ต้องการบิน waypoint เพื่อบินไปถ่ายภาพ ถ่ายวีดีโอมากกว่า ในภาพรวมคือผมพอใจที่มีฟีเจอร์บินด้วย waypoint ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม ผลลัพธ์รูปด้านล่างรูปแรกเป็นโมเดล 3D ถ่ายด้วยการเปิดมุมกิมบอล -75 องศา รูปที่สองถัดไปเป็นภาพ Orthomosaic ที่ผมตัดมาบางส่วน

ประมวลผลจากบินหลาย Flight

ผมทดสอบการประมวลจากบินหลาย Flight เนื่องจากเป็นการบินพื้นที่ที่ผมทำงานอยู่บนพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ไม่สามารถใช้ Hubsan Ace Pro ทีมีแบตก้อนเดียวบินเก็บทั้งพื้นที่ได้ และไม่ได้ทำ GCPs เพียงแต่ต้องการทำภาพ Orthophoto หรือ Orthomosaic เป็นผืนเดียว สามารถนำภาพนี้มาใช้ในการวางแผนงานได้ (ไม่ต้องการ accuracy ด้านตำแหน่ง)

เดือนนี้เป็นเดือนเมษายนที่อากาศร้อนปรอทแทบแตก ผมจึงแบ่งการบินเป็นพื้นที่ที่ระยะทางรวมของแต่ละแปลงให้จุด waypoint ระยะทางรวมไม่เกิน 5 กม. บินทุกวันวันละรอบ ประมาณเก้าโมงเช้า บางวันเป็นวันหยุดไม่ได้ไปไหนก็บินเช้าและบินบ่าย

การนำข้อมูลเข้า Agisoft Metashape จะเป็นการนำเข้าไปประมวลผลแยกเป็นโฟลเดอร์ตามวันที่ โจทย์คือนำข้อมูลประมวลผลแต่ละวันมาต่อกันให้เข้ากันสนิทได้อย่างไร การแก้ปัญหาทำได้สองทางคือ

  1. นำข้อมูลรูปถ่ายแต่ละวันมานำเข้าโปรแกรมแบบชุดเดียว รูปทั้งหมดประมาณ 1300 รูป แบบนี้ต้องตั้งเครื่องคอมแช่ไว้ประมวลผล ถ้าเครื่องไม่แรงอาจจะข้ามวันข้ามคืน 24 ชม. เสร็จแล้วจะมีจุดพ้อยคลาวด์ทั้งหมด 386 ล้านจุด นับว่ากินแรงเครื่องมากๆ
  2. แยกประมวลผลแต่ละวันและนำมารวมกันแบบ Merge chunks (ความหมาย chunk คือก้อนซึ่งสื่อความหมายดี 1 chunk คือ 1 ไฟลท์) ผมเข้าใจว่าฟีเจอร์นี้ของ Agisoft Metashape ยังเป็นเทพอยู่ อย่าง Pix4D mapper ยังทำแบบนี้ไม่ได้

ผมไม่ได้รอให้บินครบพื้นที่ เมื่อได้สามไฟลท์ผมเอามารวมกัน จากนั้นบินอีกสองไฟลท์แล้วนำมารวมกับของเก่า ท้ายสุดบินหนึ่งไฟลท์แล้วนำมารวมกับของเดิม การรวมกันนั้นจะต้องผ่านกระบวนการ Align Chunks แล้วตามด้วย Merge Chunks เสมอ สุดท้ายผลลัพธ์ที่ผมต้องการคือ Orthomosaic ที่ต่อกันสนิท ตรง Overlap อาจจะมีปัญหาเล็กน้อย เพราะแต่ละวันภาพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลง เช่นบางพื้นที่อาจจะมีการมาสต๊อควัสดุเพิ่มเปลี่ยนแปลงเสมอเพราะเป็นพื้นที่โรงงาน

Merge Chunk ของ Agisoft Metashape
ตัวอย่าง orthomosaic
บางส่วนของ Orthomosaic

แอพ DroneLink ผู้มาช่วยบินแบบ waypoint สำหรับ DJI Mini 3 Pro

กลับมาที่ DJI Mini 3 Pro รีโมทคอนโทรลที่ผมมีอยู่คือ DJI RC แบบมีหน้าจอ จริงๆแล้วมันคือแอนดรอยด์ที่ทาง DJI เอามาปรับแต่ง แต่ไม่สามารถลงแอพชาวบ้านได้ ผมกำลังพูดถึงแอพ Dronelink ที่จะสนับสนุนการบินด้วย waypoint ผ่านทาง SDK ที่ DJI ที่ปล่อยมาล่าสุด โดยที่ฮาร์ดแวร์ที่ต้องการคือรีโมทคอนโทรลแบบไม่มีหน้าจอคือรุ่น RC-N1 ผมซื้อราคามือสองอยู่ราวๆสองพันบาท แบบนี้เราต้องเอารีโมทคอนโทรลมาต่อกับโทรศัพท์มือถือของเราที่ติดตั้งแอพ Dronelink

สำหรับรีโมทคอนโทรลที่สนับสนุนอีกสองรุ่นคือรุ่นที่มีหน้าจอระดับเทพ ได้แก่ DJI Smart Controller ราคาหลักหมื่นบาท และรีโมทคอนโทรล DJI RC Plus ราคาหลายหมื่นบาท สำหรับผมแล้วรุ่นเทพแบบมีหน้าจอสามารถติดตั้งแอพ Dronelink เข้าได้เลย สะดวกมากๆแต่ติดที่ราคาเกินเอื้อม

สำหรับคุณภาพของโดรน DJI ไม่ต้องห่วงครับ ดีทุกรุ่น ผมใช้มาหลายรุ่นที่ทำงานด้วย ส่วนตัวด้วย สำหรับโดรน DJI พัฒนาไม่หยุดยั้ง ด้วยความเป็นแบรนด์จากจีนทีมีราคาถูกและคุณภาพดีเลยโดนกีดกันทั้งการค้าและเหตุผลความมั่นคงจากอเมริกาที่แบนไม่ให้หน่วยงานราชการใช้และประเทศในยุโรปบางประเทศก็เช่นกัน แต่ที่ผมไม่พอใจ DJI คือมาตัดฟีเจอร์บิน waypoint สำหรับโดรนตลาดคอนซูเมอร์เสียนี่

จ่ายเงินซื้อบริการ

สำหรับ Dronelink ออกแบบในลักษณะ platform คือถ้าจะใช้แอพจะบังคับจ่ายเงินมีสองระดับคือแบบผู้ใช้งานเป็นงานอดิเรก (Hobbyist) และแบบที่สองคือผู้ใช้มืออาชีพ (Professional) แต่ละแบบก็มีแยกย่อยลงไปอีกตามราคา ผมเลือกแบบ Hobbyist แบบปานกลางคือ 49.99 US$ ตลอดชีพ เราสามารถสร้าง waypoint ได้ผ่านทางออนไลน์และสามารถจัดเก็บไฟล์เข้าคลาวด์ของ Dronelink เอง เมื่อจะบินด้วย waypoint แค่เรียกไฟล์จากแอพของ Dronelink จากนั้นอัพโหลดไฟล์เข้าเครื่องโดรน ก็พร้อมจะบินไปตามจุดได้ทันที

ผมซื้อรีโมทมือสอง RC-N1 มาลองกับ Mini 3 Pro ที่มีอยู่โดยที่ทิ้งรีโมท DJI RC แบบมีหน้าจอชั่วคราว ผลการบินแบบ waypoint ด้วย Dronelink มาว่ากันตอนหน้าครับ

2 thoughts on “เมียงมองหาโดรนราคาถูกสำหรับงาน Photogrammetry”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *