การต่อ Emlid RS2 แบบบลูทูธเข้ากับ Hypack

ขวัญใจโลกที่สาม

สำหรับ Emlid RS2 ที่ทางทีมงานผมได้สั่งเข้ามาทดลองใช้งานก่อนสองชุดเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ RTK มีราคาถูกมาก ประมาณชุดละแปดหมื่นบาท ขอยืมคำพูดคุณปฐมพงศ์ สทล.12 มาใช้ว่า Emlid คือ “ขวัญใจของโลกที่สาม” ด้วยราคาที่ถูก ประสิทธิภาพพอตัว รุ่นนี้นอกจากวัด RTK ได้ปกติแล้วยังสามารถรังวัด Static ได้ด้วย นอกจากนั้นยังสามารถตั้งเครื่องเป็น RTK Base Station เพียงแต่ต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ตลอดเวลา เครื่องสามารถใส่ซิมการ์ดได้ ทำให้การรับสัญญาน RTK ในกรณีเป็นเครื่องลูก (Rover station) จากที่ไหนก็ได้ที่มีอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายๆ

NTRIP Server

ส่วนกรณีตั้งเป็น RTK Base Station สามารถส่งข้อมูล correction ผ่านซิมการ์ดเข้าอินเทอร์เน็ต จากนั้นค่า correction จะถูกนำเข้า NTRIP Server และค่าปรับแก้จะกระจายค่า correction นี้ออกมาทางอินเทอร์เน็ตอีกที ทำให้เครือข่ายเครื่องลูกสามารถรับสัญญานปรับแก้ได้พร้อมๆ กันหลายๆเครื่อง เพียงแค่ไปสมัครบริการ NTRIP Caster เช่นของ Emlid เองหรืออย่างผมใช้ rtk2go.com ที่ฟรีทั้งคู่ สะดวก

ขอนิยามคำว่า NTRIP Server คือเซิฟเวอร์กลางที่รวบรวมค่าแก้จากสถานีต่างๆเราเรียกว่า NTRIP Server โดยจะทำหน้าที่รวบรวมและกระจายค่าปรับแก้ให้กับ Rover ผ่านทางอินเตอร์เน็ต การทำงานของระบบจะเป็นการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

การส่งข้อมูลปรับแก้ สามารถส่งออกได้หลายทางเช่นผ่านคลื่นวิทยุ LoRa ซึ่งผมยอมรับตรงๆไม่เคยใช้

ไดอะแกรมแสดงระบบ Ntrip Caster เครดิต: https://www.agleader.com/blog/

ReachView 3

เครื่อง Emlid RS2 จะมาพร้อมกับแอพบนมือถือชื่อ “ReachView” ตอนนี้เป็นเวอร์ชั่น 3 เท่าที่ลองใช้งาน มีความเสถียร การต่อเครื่อง Emlid RS2 ผ่านทาง hotspot ของตัวเครื่องก็สะดวก หรือจะให้ผ่านเครือข่ายเราเตอร์ที่เราใช้อินเทอร์เน็ตตามบ้านก็สะดวกเช่นกัน สามารถต่อแล้วเข้าไปปรับแก้ค่า config ได้ทุกอย่าง

ReachView 3 vs. TGM2017?

ข้อเสียของ Emlid คือแอพ ReachView 3 ไม่สามารถติดตั้ง geoid model แบบ custom ลงไปด้วยตัวเอง ในที่นี้ที่ที่เราต้องการเพิ่ม “TGM2017” ลงไปในแอพ ผมได้สอบถามทางผู้พัฒนา ReachView3 ไปทางฟอรั่มได้คำตอบประมาณว่ายังทำไม่ได้ ณ ตอนนี้แต่จะพิจารณาพัฒนาแอพเพื่อให้สามารถเพิ่ม geoid model ด้วยตัวผู้ใช้เองในภายหลัง

เมื่อไม่มี geoid model ใช้ แอพจะคิดความสูงให้ได้แค่เทียบกับความสูงทรงรีเท่านั้น ไม่สามารถทอนความสูงมาเป็น orthometric height หรือความสูงเทียบกับน้ำทะเลปานกลาง (รทก. – MSL) ได้

สำหรับงานก่อสร้างเราต้องการ setting-out ให้ได้ค่าระดับเทียบกับ MSL ได้ตลอดเวลา หรือแม้กระทั่งงานสำรวจภูมิประเทศก็ตาม โดยที่ไม่ต้องนำความสูงมาปรับแก้อีกครั้งในสำนักงาน นับเป็นความสะดวกที่ทำงานครั้งเดียวจบ

Emlid RS2 vs. Hypack

ในเคสผม ผมต้องการใช้เครื่อง Emlid RS2 ในโหมด RTK กับโปรแกรม Hypack ที่เป็นโปรแกรมบนเครื่องโน๊ตบุ๊ควินโดส์ กลับประสบปัญหาเนื่องจากไม่ได้สั่งสาย serial ที่หัวต่อแบบ 9 เข็มมาใช้ พยายามต่อผ่านบลูทูธ แต่ Hypack เองก็ไม่สนับสนุน เท่าที่ค้นหาโปรแกรม อุปกรณ์ที่ต่อกับโปรแกรมผ่านทางบลูทูธตรงๆมีน้อยมาก ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าการต่ออุปกรณ์ผ่านบลูทูธก็จำลองระบบ serial ให้อยู่แล้ว (หรือภาษาอังกฤษจะมีคำว่า “Serial port over bluetooth link”) แต่ผมลองต่อดูผ่านคอมพอร์ท ที่ ingoing และ outgoing ปรากฎว่าไม่สำเร็จ Hypack ไม่จับอักขระ NMEA ให้เลย

เมื่อทางตรงๆไม่ได้ ผมลองทางอ้อม อันดับแรกให้เปิด More Bluetooth settings ที่วินโดส์ (ผมใช้วินโดส์ 11) เพื่อตรวจสอบว่า Emlid ใช้คอมพอร์ทไหน ตัวอย่างเครื่องผมจอง Outgoing ที่คอมพอร์ท Com21 และ Incoming ที่คอมพอร์ท Com22 ลักษณะคำพูด Outgoing และ Incoming เหมือนจะเอาอุปกรณ์เป็นหลักไม่ใช่เครื่องคอมพิวเตอร์ ดังนั้นคำว่า “Outgoing” คือพอร์ทที่จะส่งข้อมูลออกมาเครื่องคอมฯ

ผมใช้โปรแกรมเล็กๆฟรีจำพวก serial port monitoring ชื่อ “Real Terminal” ที่ฟรีและโค้ดเปิด เป็นโปรแกรมรุ่นเก่ามาก มาทำการมอนิเตอร์คอมพอร์ท (com port) Com21 ให้แน่ใจว่าข้อมูลอักขระ NMEA ผ่านคอมพอร์ท Com21 นี้

แสดงข้อมูล Emlid RS2 ที่ผ่านเข้า Com21

จากนั้น inactivate (คลิกที่ปุ่ม Open ให้ยกขึ้น) เพื่อให้โปรแกรมอื่นสามารถเข้ามาใช้คอมพอร์ทได้ จากนั้นหาโปรแกรมชื่อ Virtual Serial Port Emulator มาใช้เพื่อทำการ split หรือแยกคอมพอร์ทให้เป็นคอมพอร์ทใหม่ที่ว่างไม่ได้ใช้ในที่นี้เป็น Com23 (โปรแกรมนี้ถ้าเป็น 32 บิตใช้ได้ฟรี)

โปรแกรม Virtual Serial Port Emulator (VSPE) ทำการแยกพอร์ท Com21 เป็น Com23

ตามหลักการแล้ว Com23 สามารถจ่ายให้โปรแกรมหลายพร้อมๆกัน ตัวอย่างเช่นเรือสำรวจลาก side scan sonar และ sub-bottom profile ที่ต้องเปิดโปรแกรมมาพร้อมๆกัน สามารถจ่ายคอมพอร์ทนี้ให้กับโปรแกรมแต่ละโปรแกรมได้ จากนั้นให้ Hypack อ่านข้อมูลอักขระ NMEA ที่พอร์ทที่สร้างใหม่ Com23 นี้อีกที

สุดท้ายเราสามารถใช้ Hypack ต่อเข้ากับ Emlid RS2 ใช้ในโหมด RTK ได้สะดวก อาจจะขลุกขลักนิดหน่อยใน config เมื่อใช้บลูทูธจะได้ครับความสะดวกไม่ต้องมีสายข้อมูลมาเกะกะในการทำงานภาคสนาม โปรดติดตามบทความตอนต่อไปครับ

2 thoughts on “การต่อ Emlid RS2 แบบบลูทูธเข้ากับ Hypack”

  1. ผมก็เล็งตัวนี้มานานเหมือนกันครับ เคยแนะนำให้ กรุงธนฯ ซื้อมาใช้เพราะราคาสมเหตุสมผล ความละเอียดใช้ได้ แต่เห็นในต่างประเทศบ่นๆ เรื่องบริการหลังการขาย เรื่องการซ่อมแซมต่างๆยังทำได้ไม่ดี ส่วนโปรแกรม ผมแนะนำ SurvePC ใส่ geoid model ได้ ฟังส์ชั่น ครบครัน แต่ประเทศไทย ไม่ค่อยใช้กัน ก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร สงสัย เพราะ ราคา license แพง ประมาณสองพันกว่าเหรียญ emlid rs2 ตัวนี้ถ้า modified กับ emlid M2 ติดโดรน mavic pro2 v.2 สามารถทำเป็นระบบ Drone RTK ราคาประหยัดที่ให้ความละเอียดสูงได้ครับ

    1. สวัสดีครับ น้อมรับทุกคำแนะนำ ถ้า SurvePC มีรุ่น Trial จะลองดูครับ ส่วนเรื่องบริการคงต้องทำใจในราคาขนาดนี้ ในใจว่ากะจะใช้งานให้คุ้มก่อน ผมซ์้อ Emlid M2 มาสองตัวเหมือนกันครับแกะกล่องดูแล้วกำลังคิดว่าจะเอามาใช้งานอะไรได้บ้าง ที่ซื้อเพราะถูกมากและก็จะนำมาศึกษาในลำดับต่อไปครับ

Leave a Reply to เอกสิทธิ์ บัวบาน Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *