เมื่อคลื่นลมแปรปรวน กับการใช้ Emlid RS2 บนความสูงโพล 15 เมตร

พื้นฐานดั้งเดิมของผมคือทำงานมารีนมาโดยตลอด สลับกับการทำงานบนบกบ้างเป็นบางคราว ครั้งนี้ไปทำงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่บังคลาเทศประมาณ 5 ปี ก็ได้หวนกลับสู่งานมารีนอีกคราคืองานก่อสร้างทางทะเลเป็นงานก่อสร้างเขื่อนกับคลื่นและทราย เป็นงานระดับเมกะโปรเจคโครงการหนึ่งทีเดียว เดือนสิงหาคม-ตุลาคมเป็นเดือนแห่งฤดูมรสุมที่คลื่นลมแรงจัด เนื่องจากเรือสำรวจเป็นเรือที่มีขนาดเล็กกินน้ำประมาณ 2.8 เมตร สภาพเรือเป็นเรือทำงาน (working boat) โครงสร้างเหล็กทั้งลำมาดัดแปลงเป็นเรือสำรวจ พอคลื่นลมแรงก็เป็นปัญหาไม่สามารถออกทำงานได้ด้วยอันตรายจากคลื่นสูงอาจจะทำให้เรือพลิกคว่ำได้

สำหรับบทความนี้ก็ขอเล่าประสบการณ์เซอร์เวย์ ที่ไม่เคยทำมาก่อนเป็นงานมารีน สำหรับงานสเป็คในงานสำรวจทางทะเลนั้นทั่วๆไปจะยอมให้ค่าความคลาดเคลื่อนได้สูงกว่างานบก เนื่องจากลักษณะส่วนใหญ่เป็นงานใต้น้ำ ควบคุมเครื่องจักรได้ลำบาก เช่นงานวางหินยอมให้ผิดพลาดทางระดับได้ บวกลบ 30 ซม. งานถมทะเล บวกลบ 15 ซม.

Sounding Ball Survey

ปัญหาคือเรื่องเบิกงวดงานที่ต้องทำเพราะงานก่อสร้างเดินหน้าโดยไม่มีสะดุด ก็เลยกลับมาพิจารณาวิธีการที่โบราณมากคือตั้ง pole เก็บรูปตัด cross-section เนื่องจากน้ำลึกมากประมาณ 7-9 เมตร และคลื่นลมแรง ดังนั้นทำ pole ให้ยาวแล้วใช้เครน 25 ตัน ด้านล่างทำเป็นลูกบอล ฝรั่งเรียกวิธีการนี้ว่า Sounding Ball survey ที่ต้องทำลูกบอลไว้ เนื่องจากด้านล่างอาจจะมีร่อง ถ้าไม่มีลูกบอล ขาโพลอาจจะเข้าร่องหิน ทำให้รูปตัดที่ออกมาหินหายไปซึ่งไม่ถูกต้อง

Emlid RS2 RTK ขวัญใจโลกที่สาม

สำหรับโพลความสูง 15 เมตร ทำเป็นท่อนๆละ 3-5 เมตร เวลาใช้งานมาต่อกันด้วยสกรูน๊อต ยกด้วยเครน ตอนแรกๆคิดกันหลายอย่าง ตั้งแต่ใช้กล้องโททัล ยิงไปที่โพลแบบ non-prism แต่ไม่สะดวกเรื่องหมุดเพราะพื้นมันเป็นหินรถสิบล้อวิ่งกันทั้งวัน ถึงทำหมุดไว้ก็เคลื่อนกันหมด อย่างที่สองเชื่อมติด RTK GNSS ไว้ที่ปลายสุดบูมของเครน ปัญหาคือความดิ่งของ RTK จะไม่ได้เพราะเวลาบูมยกขึ้นลงและปัญหาอีกอย่างคือโอกาสที่ RTK ไปกระแทกโดนอย่างอื่นก็มี สุดท้ายมาจบที่เอา RTK ไปเชื่อมไว้ปลายโพล แล้วทำที่หิ้วตรงปลาย แบบนี้มั่นใจได้เลยว่าเวลาทำงาน RTK จะได้ดิ่งตลอด ปัญหามีนิดเดียวคือจุดหิ้วโพลอาจจะบังสัญญาน GNSS ไปเล็กน้อย แต่ทดสอบแล้วไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

เวลาสำรวจกำหนดไว้เลยว่าต้องเป็นกลางคืนเพราะไม่มีรถสิบล้อขนหินวิ่ง อีกอย่างเวลาเครนกางตีนช้าง คันหินกว้างประมาณ 10 เมตร รถอื่นไม่สามารถผ่านได้ เมื่อถึงวันสำรวจจริงๆ มีฝนตกมาเล็กน้อย คลื่มลมสงบราบเรียบ ทำให้ทำงานได้อย่างราบรื่น การต่อ Emlid RS2 ใช้เป็นแบบไวไฟ Hotspot ด้วยแอพ ReachView ของ Emlid เอง เมื่อยกบูมและโพลขึ้นไปสุดๆ สัญญานไวไฟมีขาดบ้างเล็กน้อย ส่วนสัญญานที่รับดาวเทียม GNSS นั้นไม่มีปัญหารับได้มากกว่า 30 ดวงขึ้นไป

สำหรับภารกิจสำรวจด้วย Sounding Ball Survey ก็ทำได้ครั้งเดียว เพราะการมาถึงของเครื่องหยั่งน้ำ Multibeam ที่ผมจะนำมาเล่าเป็นประสบการณ์ในลำดับถัดๆไปครับ โปรดติดตามครับ

2 thoughts on “เมื่อคลื่นลมแปรปรวน กับการใช้ Emlid RS2 บนความสูงโพล 15 เมตร”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *