ติดปีกเครื่องคิดเลขเทพ Casio fx 9860G II SD ด้วยโปรแกรมภาษาซีบน AddIn ตอนที่ 4 โปรแกรมพื้นฐานงานสำรวจชุดที่ 1 (COGO SSE 1)

COGO (Coordinate Geometry)

ผมพยายามจะแปลคำนี้เป็นภาษาไทยอยู่นานทีเดียว แต่สุดท้ายขอทับศัพท์ดีกว่า จริงๆแล้วงานสำรวจคืองานที่เกี่ยวกับทรงเรขาคณิต (Geometry) อยู่แล้ว และต้องสามารถระบุค่าพิกัด (Coordinate) ทุกๆจุดได้บนเรขาคณิตนั้นๆ ความเกี่ยวข้องระหว่างรูปทรงเรขาคณติกับค่าพิกัดจะเกี่ยวข้องกันด้วยมุมและระยะทางเป็นส่วนใหญ่

Selected Serie 1 (SSE 1)

คำนี้เอามันครับ ผมนึกถึงโปรแกรมตระกูลไมโครสเตชัน (Microstation) ที่มักจะใช้คำนี้บอกรุนของโปรแกรม ดังนั้นคำว่า  Selected Serie 1 คำแปลก็ประมาณว่าเลือกสรรแล้วชุดที่ 1

โปรแกรมพื้นฐานงานสำรวจชุดที่ 1 (COGO SSE 1)

ก่อนหน้านี้ผมเขียนโปรแกรมภาษาซีสำหรับเครื่องคิดเลข Casio fx-9860G II SD มาหลายตอนแต่เป็นโปรแกรมระดับ advance มาในตอนนี้จะกลับมาที่พื้นฐานงานสำรวจที่ต้องเกี่ยวข้องกับค่าพิกัด มุมและระยะทาง

ดาวน์โหลดและติดตั้ง

ไปที่หน้าดาวน์โหลด (Download) มองหาโปรแกรม COGO SSE1 แล้วดาวน์โหลดจะได้ไฟล์ COGOSSE1.G1A  แล้ว copy ไฟล์ไปที่เครื่องคิดเลขตามวิธีขั้นตอนที่ผมได้บอกไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนประกอบของโปรแกรม

สำหรับโปรแกรมพื้นฐานงานสำรวจในชุดนี้จะจัดโปรแกรมย่อยเล็กๆ ไว้ 4 โปรแกรม

  1. Bearing-Dist (2 pt) เมื่อกำหนดจุดค่าพิกัด 2 จุด สำหรับคำนวณหามุมอะซิมัทและระยะทาง
  2. Bearing-Dist(3 pt) เมื่อกำหนดจุดค่าพิกัด 3 จุด สำหรับคำนวณหาง่ามมุมราบ อะซิมัทและระยะทาง ในงานสำรวจก็ได้แก่การตั้งเป้าหลัง  (backsight)  จุดตั้งกล้อง (station) และเป้าหน้า (target)
  3. Coordinate 2D เมื่อกำหนดจุดค่าพิกัด 2 จุด กำหนดมุมราบและระยะราบ คำนวณหาค่าพิกัดจุดที่ 3 คำนวณหาพิกัดจุดที่ 3 การคำนวณคำนวณในระนาบสองมิติอย่างเดียว ไม่มีค่าระดับมาเกี่ยวข้อง
  4. Coordinate 3D เมื่อกำหนดจุดค่าพิกัด 2 จุด กำหนดมุมราบและมุมดิ่ง ระยะทางแบบ slope distance ต้องการคำนวณหาค่าพิกัดและค่าระดับจุดที่ 3

วิธีการใช้งานโปรแกรม

กดคีย์ “MENU” ที่เครื่องคิดเลขจะเห็นหน้าตาประมาณนี้ เลื่อนลูกศรไปที่ไอคอนของโปรแกรมดังรูป กดคีย์ “EXE”

Bearing-Dist (2 pt)

ที่เมนูกดคีย์ “1” เป็นการคำนวณหาค่ามุมอะซิมัทและระยะทางเมื่อกำหนดจุดค่าพิกัดให้สองจุด ลองทดสอบจากตัวอย่างดังรูป การประยุกต์ใช้งานส่วนใหญ่เป็นตอนที่ช่างสำรวจตั้งกล้องที่หมุดและส่องไปเป้าหลังหรือเป้าหน้าแล้ววัดระยะทางเพื่อตรวจสอบจากค่าพิกัด

ผลลัพธ์ก็ออกมาดังนี้

Bearing-Dist (3 pt)

ที่เมนูกดคีย์เลข “2” การประยุกต์ใช้งานส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งกล้องส่องไปหมุดเป้าหลังแล้วป้อนค่าพิกัดเป้าหน้าเพื่อตรวจสอบมุมราบหรือไม่ก็จะเป็นการวางผังโดยการเปิดมุมราบและวัดระยะทางที่เป้าบน pole ลองดูตัวอย่างทดสอบ

จะได้ผลลัพธ์มาดังนี้ ครั้งแรกจะแสดงมุมอะซิมัทและระยะทางไปเป้าหลังก่อน

ถัดไปจะเป็นมุมราบ มุมอะซิมัทและระยะทางไปเป้าหน้า

Coordinate 2D

ที่เมนูกดคีย์เลข “3” เป็นการคำนวณหาค่าพิกัดเป้าหน้าเมื่อกำหนดค่าพิกัดจุดตั้งกล้องและเป้าหลัง กำหนดมุมราบและระยะทาง การคำนวณจะไม่มีค่าระดับมาเกี่ยวข้อง จึงเรียกว่า 2D หรือสองมิติ สำหรับโปรแกรมนี้ผมได้นำค่าสเกลแฟคเตอร์เข้ามาช่วยประยุกต์ใช้ด้วย ในกรณีที่ไม่ต้องใช้ก็ป้อนค่าสเกลแฟคเตอร์นี้ เป็น 1.0

สเกลแฟคเตอร์ตัวนี้แล้วจริงๆคือ Combine Scale Factor (CSF) ที่ได้จาก Elevation Scale Factor (ESF) x Grid Scale Factor (GSF) การประยุกต์ใช้สเกลแฟคเตอร์ส่วนใหญ่นำมาใช้โครงการที่ระบบพิกัดฉากกริดยูทีเอ็มในงานใหญ่ๆยาวๆ เช่นโครงการก่อสร้างถนน รถไฟ เพราะว่าแบบ drawing เราอยู่บนระนาบพิกัดฉาก ให้คิดเสียว่าแบบอยู่บนกระดาษขนาดใหญ่มาตราส่วน 1:1 แล้วเราวัดระยะทางบนผิวโลกที่มีความโค้ง ดังนั้นการวัดระยะทางจะต้องมีการทอนจากบนผิวโค้งเพื่อให้ลงมาเข้ากับระนาบพิกัดฉากของกระดาษ

มาลองทดสอบข้อมูล ป้อนข้อมูลค่าพิกัดเป้าหลัง ค่าพิกัดจุดต้องกลองดังนี้

จากนั้นป้อนมุมราบ และระยะทาง (Ground Distance ใช้ตัวย่อ Gnd dist) ในกรณีกล้องโททัล สเตชัน ไม่ได้ตั้งค่าสเกลแฟคเตอร์ไว้ที่ตัวกล้อง ระยะทางที่วัดออกมาจะเป็นระยะทางบนพื้นโลก ส่วนค่าสเกลแฟคเตอร์ในตัวอย่างผมใช้ 1.000480

 

โปรแกรมจะคำนวณมุมอะซิมัทและระยะทางไปเป้าหลังให้ดูก่อนเพื่อตรวจสอบ และไม่ลืมว่าค่าพิกัดที่เราป้อนเข้าไปในเครื่องคิดเลขคือค่าพิกัดในระบบพิกัดฉาก ระยะทางที่คำนวณออกมาคือระยะทางบนพิกัดฉาก (Grid Distance ใช้ตัวย่อ Grd Dist) และถ้าวัดระยะทางจริงๆควรจะได้เท่ากับ Ground Distance

ทวนกันนิด ระยะทางบนพิกัดฉาก(กริด)= ระยะทางบนพื้นโลก x สเกลแฟคเตอร์ 

สุดท้ายจะได้แสดงข้อมูลได้แก่มุมอะซิมัทไปเป้าหน้า ระยะทางบนพิกัดฉากและระยะทางบนพื้นโลก รวมทั้งค่าพิกัดเป้าหน้าที่ต้องการ

Coordinate 3D

ที่เมนูกดคีย์ “4” โปรแกรมคล้าย Coordinate 2D แต่จะมีมิติทางดิ่งเข้ามาเพิ่มดังนั้นที่จุดตั้งกล้องจะวัดความสูงของกล้อง (HI – Height of instrument) และที่เป้าหน้าก็จะต้องวัดความสูงมาด้วย (HT – Height of target) นอกจากนั้นจะมีมุมดิ่ง (Vertical angle) มาด้วย มาดูข้อมูลทดสอบกัน เริ่มจากป้อนค่าพิกัดเป้าหลัง ต่อมาป้อนค่าพิกัดจุดตั้งกล้อง ค่าระดับจุดตั้งกล้อง ความสูงกล้อง

ต่อไปป้อนมุมราบ(H.Ang) มุมดิ่ง(V.Ang) ระยะทาง (Slope distance) และความสูงเป้า(HT) และค่าสเกลแฟคเตอร์ (Scale Factor)

โปรแกรมจะคำนวณอะซิมัท ระยะทางจากจุดตั้งกล้องไปเป้าหลัง ข้อสังเกตผมใส่เครื่องหมายดาว (*) หน้าระยะทางบนพื้นโลก (Ground Distance)

กดคีย์ “EXE” จะได้ผลลัพธ์ อะซิมัท ระยะราบทั้งระยะบนพื้นโลกและระยะกริดจากจุดตั้งกล้องไปเป้าหน้า

สุดท้ายคือผลลัพธ์ที่ต้องการคือค่าพิกัดและค่าระดับของเป้าหน้า

สรุป

ก็พอหอมปากหอมคอสำหรับโปรแกรมพื้นฐานงานสำรวจชุดที่ 1 โดยมีสิ่งที่ช่างสำรวจจะต้องเข้าใจตั้งแต่เรื่องมุมอะซิมัทคือมุมอะไร สำคัญมากเพราะมุมนี้เป็นหัวใจขั้นพื้นฐานและจะสัมพันธ์กับระยะทางโดยที่แยกกันไม่ออกและสามารถนำไปคำนวณค่าพิกัดได้ สำหรับการคำนวณแบบนี้ โปรแกรมในกล้อง Total Station ปัจจุบันก็คำนวณให้อยู่แล้ว แล้วก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ในทางกลับกัน สำหรับช่างสำรวจเอง คงไม่มีใครได้จับกล้องพวกนี้ได้ตลอดเวลา จำเป็นจะต้องมีเครื่องคิดเลขคู่ใจไว้ติดตัวตลอด สามารถหยิบมาใช้งานได้สะดวกและถ้ามีโปรแกรมที่จำเป็นสำหรับการทำงานติดอยู่ด้วย ชีวิตการทำงานก็พลอยลื่นไหล ติดตามตอนต่อไปครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *